24 มิถุนายน, 2555

เข้าร่วมคลีนิคบำบัดซึมเศร้าครั้งที่2






อันนี้เป็นใบนัดเข้ากลุ่มค่ะ ทุกครั้งที่เข้ากลุ่มบำบัดเสร็จ จะมีพยาบาลเซ็นให้ ว่ามาเข้าแล้วน๊าาา

วันนี้เป็นครั้งที่สอง หัวข้อจะเป็น ปรับความคิดพิชิตซึมเศร้าค่ะ

นั่งล้อมวงเป็นกลุ่มเหมือนเดิม แต่คราวนี้จะมีพยาบาลมานั่งร่วมด้วย 3 คนค่ะ
วันนี้พยาบาลพูดคุยเรื่องความคิดค่ะ ว่า ความคิดแบบไหน เป็นอย่างไร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
ให้เราคิดว่า ความคิดที่เรากำลังคิด เป็นแง่บวก หรือแง่ลบ

มีการเสนอสถานการณ์ขึ้นมา แล้วแยกเป็น mapping ให้ดูว่า
ถ้ามีสถานการณ์เกิดขึ้น บุคคลส่วนใหญ่ โดยทั่วไปแล้วเนี่ย
จะเกิด "ความรู้สึก" กับสถานการณ์ขึ้นมาก่อน
ซึ่งความจริงแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ แล้วเนี่ย mapping เป็นเช่นนี้ค่ะ

สถานการณ์ > ความคิด > ความรู้สึก > พฤติกรรม

ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น

ตอนที่พยาบาลกำลังนั่งพูดคุยอยู่นั้น อยู่ดีดี ก็มีเจ้าหน้าที่คนที่1 เข้ามาเดินแจกเอกสารให้กับคนไข้
ที่กำลังตั้งใจฟังพยาบาลอธิบาย แล้วก็มีเจ้าหน้าที่คนที่2 เดินเข้ามาดุคนที่1 ว่า "คุณเค้าพูดอยู่ ให้เค้าพูดจบก่อน แล้วค่อยมาแจก" แล้วจากนั้น เจ้าหน้าที่คนที่2 ก็ไปดึงเอกสารคืนไป

จากนั้น พยาบาลก็ถามแต่ละคนว่า มีความคิด หรือความรู้สึกกับสถานการณ์เมื่อครู่ว่าอย่างไรบ้าง?

คนไข้คนที่ 1 ตอบว่า รู้สึกถูกขัดจังหวะ
คนไข้คนที่ 2 ตอบว่า รู้สึกว่าไม่ต้องเอาคืนไปก็ได้ เดี๋ยวก็ต้องมาแจกใหม่อยู่ดี
คนไข้คนที่ 3 ตอบว่า รู้สึกสงสาร ว่าทำไมคนนั้นต้องมาดุคนที่มาแจกเอกสารด้วย พูดดีดีก็ได้
คนไข้คนที่ 4 ตอบว่า รู้สึกเฉยๆ (เมเอง)
คนไข้คนที่ 5 ตอบว่า รู็สึกถูกดึงความสนใจจากที่พยาบาลกำลังพูด ทำให้เหมือนหลุดออกจากสิ่งที่พยาบาลกำลังพูด
คนไข้คนที่ 6 ตอบว่า รู้สึกว่าไม่มีมารยาทที่แทรกเข้ามา

จากนั้น พยาบาลอีกท่านนึง ก็ให้ช่วยกันแยกว่า แต่ละข้อที่แต่ละคนไข้เสนออกมา อันไหนเป็นความรู้สึก อันไหน เป็นความคิด

เมยกตัวอย่างให้ดูนะคะ

รู้สึกว่าถูกขัดจังหวะ ถือว่า เป็นความคิด ไม่ใช่ความรู้สึก
"คิด"ว่า ถูกขัดจังหวะ > จึงทำให้"รู้สึก" ไม่พึงพอใจ > แล้วแสดงออกมาเป็น"พฤติกรรม" คือ จ้องมอง 

จากตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไป ชอบใช้คำว่า รู้สึกแบบนี้ รู้สึกแบบนั้น
แต่ความจริงแล้ว เราต้องมี "ความคิดก่อน แล้วจึงรู้สึก"

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ขึ้นแล้วเนี่ย เราควรใช้ความคิดกับสถานการณ์นั้นๆ ก่อนจะรู้สึกกับสถานการณ์

เมื่อเราสามารถกระบวนความคิดได้แล้ว เราก็จะสามารถประมวลผลความคิดของเราได้ว่า
ตอนนั้น เราคิดบวก หรือ เราคิดลบ

แล้วคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเนี่ย ก็มักจะคิดลบกันทั้งนั้น แล้วเราจะปรับเปลี่ยนความคิดของเรายังไงให้กลายเป็นแง่ที่ดีขึ้น 

จากนั้นก็มีการใช้สถานการณ์ของคนไข้ภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นสถานการณ์จริง เมไม่สามารถเผยแพร่ได้นะคะ เพราะการเข้ากลุ่มบำบัด มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนคือ ไม่ให้นำเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกภายในกลุ่ม ออกไปเผนแพร่เด็ดขาด เราสามารถระบายความอัดอั้นตันใจได้ เพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันระดมความคิดเห็น และช่วยแนะนำ เสนอวิถีทางให้กับสมาชิกค่ะ

แล้วเมก็ได้การบ้านกลับมา ให้ทำ mapping กับสถานการณฺที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง
โดยเขียนว่า "สถานการณ์เป็นอย่างไร เราคิดว่าอะไร เรารู้สึกยังไง พฤติกรรมที่ตามมาคืออะไร"

ถ้าถามเมว่า เมคิดยังไงนะ ตอนนี้เมบอกได้แค่ว่า บางครั้ง บางที เมก็ไม่ได้ไปอยากนั่งฟังปัญหาของคนอื่น แบบว่า เราก็เครียดตาม แต่พอเมไปเข้าคลาสครั้งที่สาม (อันนี้เมเขียนย้อนหลังนะคะ) ความคิดเมเปลี่ยนไปทันที

เมกลับคิดว่า จริงๆ แล้วเนี่ย จากการที่สมาชิกในกลุ่มเล่าถึงปัญหาของของตนเอง แล้วเมื่อเรามาช่วยกันวิเคราห์ มันทำให้เราคิดอะไรได้เยอะขึ้น รู้จักการคิด แยกแยะ ทีละนิด ทีละหน่อย รู้จักการทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น รู้จักคิดว่า เราควรที่จะคิดแบบไหน ให้ตัวเรามีกำลังใจ และคิดในแง่ที่ดีขึ้น

แต่ก็อย่างว่านะ เวลาถ้าเรา down มากๆ ถึงตอนนั้น เรานึกอะไรไม่ออกจริงๆ ก็คงต้องค่อยๆ ปรับกันไป สู้ๆ เพื่อตัวเราเองให้กลับมาเป็นปกติกันดีกว่า !

จบการเข้าคอร์สที่สองค่ะ
Ps. อาหารว่างที่แจกวันนี้เป็นพายของแมคโดนัลส์ด้วยอ่า ฮ่าๆ ^___^

ทิ้งท้ายค่ะ "การคิดในแง่ดี ไม่ใช่การคิดในแง่บวกแบบสุดโต่ง หรือคิดแง่ลบแบบสุดดิ่ง แต่คือการคิดที่อยู่ในความเป็นจริง และเกิดขึ้นได้จริง"