24 มิถุนายน, 2555

เข้าร่วมคลีนิคบำบัดซึมเศร้าครั้งที่2






อันนี้เป็นใบนัดเข้ากลุ่มค่ะ ทุกครั้งที่เข้ากลุ่มบำบัดเสร็จ จะมีพยาบาลเซ็นให้ ว่ามาเข้าแล้วน๊าาา

วันนี้เป็นครั้งที่สอง หัวข้อจะเป็น ปรับความคิดพิชิตซึมเศร้าค่ะ

นั่งล้อมวงเป็นกลุ่มเหมือนเดิม แต่คราวนี้จะมีพยาบาลมานั่งร่วมด้วย 3 คนค่ะ
วันนี้พยาบาลพูดคุยเรื่องความคิดค่ะ ว่า ความคิดแบบไหน เป็นอย่างไร หรือพูดง่ายๆ ก็คือ
ให้เราคิดว่า ความคิดที่เรากำลังคิด เป็นแง่บวก หรือแง่ลบ

มีการเสนอสถานการณ์ขึ้นมา แล้วแยกเป็น mapping ให้ดูว่า
ถ้ามีสถานการณ์เกิดขึ้น บุคคลส่วนใหญ่ โดยทั่วไปแล้วเนี่ย
จะเกิด "ความรู้สึก" กับสถานการณ์ขึ้นมาก่อน
ซึ่งความจริงแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ แล้วเนี่ย mapping เป็นเช่นนี้ค่ะ

สถานการณ์ > ความคิด > ความรู้สึก > พฤติกรรม

ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น

ตอนที่พยาบาลกำลังนั่งพูดคุยอยู่นั้น อยู่ดีดี ก็มีเจ้าหน้าที่คนที่1 เข้ามาเดินแจกเอกสารให้กับคนไข้
ที่กำลังตั้งใจฟังพยาบาลอธิบาย แล้วก็มีเจ้าหน้าที่คนที่2 เดินเข้ามาดุคนที่1 ว่า "คุณเค้าพูดอยู่ ให้เค้าพูดจบก่อน แล้วค่อยมาแจก" แล้วจากนั้น เจ้าหน้าที่คนที่2 ก็ไปดึงเอกสารคืนไป

จากนั้น พยาบาลก็ถามแต่ละคนว่า มีความคิด หรือความรู้สึกกับสถานการณ์เมื่อครู่ว่าอย่างไรบ้าง?

คนไข้คนที่ 1 ตอบว่า รู้สึกถูกขัดจังหวะ
คนไข้คนที่ 2 ตอบว่า รู้สึกว่าไม่ต้องเอาคืนไปก็ได้ เดี๋ยวก็ต้องมาแจกใหม่อยู่ดี
คนไข้คนที่ 3 ตอบว่า รู้สึกสงสาร ว่าทำไมคนนั้นต้องมาดุคนที่มาแจกเอกสารด้วย พูดดีดีก็ได้
คนไข้คนที่ 4 ตอบว่า รู้สึกเฉยๆ (เมเอง)
คนไข้คนที่ 5 ตอบว่า รู็สึกถูกดึงความสนใจจากที่พยาบาลกำลังพูด ทำให้เหมือนหลุดออกจากสิ่งที่พยาบาลกำลังพูด
คนไข้คนที่ 6 ตอบว่า รู้สึกว่าไม่มีมารยาทที่แทรกเข้ามา

จากนั้น พยาบาลอีกท่านนึง ก็ให้ช่วยกันแยกว่า แต่ละข้อที่แต่ละคนไข้เสนออกมา อันไหนเป็นความรู้สึก อันไหน เป็นความคิด

เมยกตัวอย่างให้ดูนะคะ

รู้สึกว่าถูกขัดจังหวะ ถือว่า เป็นความคิด ไม่ใช่ความรู้สึก
"คิด"ว่า ถูกขัดจังหวะ > จึงทำให้"รู้สึก" ไม่พึงพอใจ > แล้วแสดงออกมาเป็น"พฤติกรรม" คือ จ้องมอง 

จากตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไป ชอบใช้คำว่า รู้สึกแบบนี้ รู้สึกแบบนั้น
แต่ความจริงแล้ว เราต้องมี "ความคิดก่อน แล้วจึงรู้สึก"

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ใดๆ ขึ้นแล้วเนี่ย เราควรใช้ความคิดกับสถานการณ์นั้นๆ ก่อนจะรู้สึกกับสถานการณ์

เมื่อเราสามารถกระบวนความคิดได้แล้ว เราก็จะสามารถประมวลผลความคิดของเราได้ว่า
ตอนนั้น เราคิดบวก หรือ เราคิดลบ

แล้วคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเนี่ย ก็มักจะคิดลบกันทั้งนั้น แล้วเราจะปรับเปลี่ยนความคิดของเรายังไงให้กลายเป็นแง่ที่ดีขึ้น 

จากนั้นก็มีการใช้สถานการณ์ของคนไข้ภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นสถานการณ์จริง เมไม่สามารถเผยแพร่ได้นะคะ เพราะการเข้ากลุ่มบำบัด มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนคือ ไม่ให้นำเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกภายในกลุ่ม ออกไปเผนแพร่เด็ดขาด เราสามารถระบายความอัดอั้นตันใจได้ เพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันระดมความคิดเห็น และช่วยแนะนำ เสนอวิถีทางให้กับสมาชิกค่ะ

แล้วเมก็ได้การบ้านกลับมา ให้ทำ mapping กับสถานการณฺที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง
โดยเขียนว่า "สถานการณ์เป็นอย่างไร เราคิดว่าอะไร เรารู้สึกยังไง พฤติกรรมที่ตามมาคืออะไร"

ถ้าถามเมว่า เมคิดยังไงนะ ตอนนี้เมบอกได้แค่ว่า บางครั้ง บางที เมก็ไม่ได้ไปอยากนั่งฟังปัญหาของคนอื่น แบบว่า เราก็เครียดตาม แต่พอเมไปเข้าคลาสครั้งที่สาม (อันนี้เมเขียนย้อนหลังนะคะ) ความคิดเมเปลี่ยนไปทันที

เมกลับคิดว่า จริงๆ แล้วเนี่ย จากการที่สมาชิกในกลุ่มเล่าถึงปัญหาของของตนเอง แล้วเมื่อเรามาช่วยกันวิเคราห์ มันทำให้เราคิดอะไรได้เยอะขึ้น รู้จักการคิด แยกแยะ ทีละนิด ทีละหน่อย รู้จักการทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น รู้จักคิดว่า เราควรที่จะคิดแบบไหน ให้ตัวเรามีกำลังใจ และคิดในแง่ที่ดีขึ้น

แต่ก็อย่างว่านะ เวลาถ้าเรา down มากๆ ถึงตอนนั้น เรานึกอะไรไม่ออกจริงๆ ก็คงต้องค่อยๆ ปรับกันไป สู้ๆ เพื่อตัวเราเองให้กลับมาเป็นปกติกันดีกว่า !

จบการเข้าคอร์สที่สองค่ะ
Ps. อาหารว่างที่แจกวันนี้เป็นพายของแมคโดนัลส์ด้วยอ่า ฮ่าๆ ^___^

ทิ้งท้ายค่ะ "การคิดในแง่ดี ไม่ใช่การคิดในแง่บวกแบบสุดโต่ง หรือคิดแง่ลบแบบสุดดิ่ง แต่คือการคิดที่อยู่ในความเป็นจริง และเกิดขึ้นได้จริง"





คุยเรื่องผลข้างเคียงของยากับตัวเม

อันนี้เป็นบล็อกเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยากับตัวของเมเองค่ะ

คุณหมอกับเภสัชกรมักจะบอกว่า
ยาที่ใช้กับแต่ละคนที่เป็น MDD จะแตกต่างกันไป ตามประเภท และขนานของยา

ครั้งแรกที่เมไปพบคุณหมอ คุณหมอให้ Lorazepam กับ Lexapro ค่ะ
Lorazepam จะทานก่อนนอน ช่วยให้หลับ
Lexapro เป็นยาต้านเศร้า คุณหมอให้ทานหลังอาหารมื้อเช้า

ครั้งแรกที่ได้ยามา เมก็มา Search หาก่อนเลยว่า ยาตัวนี้เป็นยังไง ให้ผลยังไง
ข้างเคียงยังไง พออ่านแล้วก็ผลใกล้กันคือ ความง่วงซึม

เอาไงล่ะทีนี้ เมเองก็อยากจะหลับ แต่ไม่อยากง่วงซึม นอนอยู่กับบ้าน
แถมเคยไปอ่านบล็อกคนอื่นว่า ทานแล้วไปไหนไม่ได้เลย
อยากอยู่แต่ในห้อง

คือ เมไม่ได้ ไม่อยากอยู่บ้านนะ แต่ว่า ไม่อยากให้คนที่บ้านเห็นเมเป็นแบบนี้ต่างหาก
ยอมที่จะไปนั่งหลับที่ร้านกาแฟก็เอา

เมก็เลยไม่ยอมทาน พอถึงคราวนัดพบคุณหมออีก คุณหมอก็ถามเรื่องยา
ก็โดนดุนิดหน่อย ถ้าใครเคยได้อ่านบล็อกก่อน เลยกลับบ้านมาทานยาตามหมอสั่ง
(อย่างเต็มใจนิดๆ)

ยาตัวก่อนนอน เมทานคืนแรก หลับปุ๋ยค่ะ ครบ 8 ชม. เด๊ะ!
ตื่นมาอีกที ว้าวววว หลับยาว ไม่ได้หลับยาวมานานมากๆ แล้ว ไม่ใช่เดือน แต่เป็นปี..
แต่...มึนมากๆ ค่ะ พอจะลุกเท่านั้นล่ะ มึนแบบล้มลงที่นอนใหม่
เมก็ เอ๊ะ เราคงลุกเร็วไป เอาใหม่ๆ ทีนี้ค่อยๆ ลุก หายใจลึกๆ
แต่ก็จะเวียนๆ หัว มึนๆ เมก็คิดว่า เดี๋ยวสักพัก มันคงหายไป

พอหลังทานมื้อเช้า เมก็ทานยาตัวที่หมอสั่งให้ทานหลังอาหารเช้าต่อเลย

สรุปแล้ว วันนั้น มึนทั้งวันค่ะ มึน แต่เมไม่ง่วงนะ มึนแบบ เวียนหัวมากๆ เดินตรงไม่ได้
นี่ถ้าไปโดนจับข้อหาเมาแล้วขับ คงโดนเล็งคนแรกแน่ๆ เพราะเดินเอียงสุดๆ
หน้ามืดบ่อยมากๆ บางครั้งแอบวูบนิดๆ การทรงตัวนี่ยากลำบากในช่วงอาทิตย์แรกมากๆ

พออาทิตย์ที่สอง เริ่มดีขึ้น แต่ยังมึนๆ เอียงๆ เล็กน้อย
พอไปพบคุณหมออีกครั้ง คุณหมอเลยเปลี่ยนตัวยาก่อนนอนให้
จาก Lorazepam เป็น Clonazepam

เราก็แอบดึใจนิดนึงว่า เอ๊ะ หรือเราอาการดีขึ้น เปลี่ยนยา? คิดเอาเองนะ
เมก็ทานยาตามหมอสั่งปกติ แล้วอาการมึนหนักๆ ก็กลับมาอีก
จากดีขึ้น กลับมามึนหนักกว่าเดิม จากที่มึนอยู่แล้ว เดินเอียงอยู่แล้ว
เอียงกว่าเดิมเพิ่มขึ้นประมาณ 20%
แถมพูดจาไม่รู้เรื่อง พูดวนไปวนมา เหมือนปากติดขัด 

แต่เมก็ไม่ยอมแพ้ ยังพยายามดันตัวเองออกไปข้างนอก
แต่ไปแล้วก็ได้แต่นั่ง จะไปเดินเหินดูโน้นนี่ ก็ฝันไปเถอะ ทรงตัวยังแทบจะไม่อยู่

พอเมทานไปต่อไปอีกสองอาทิตย์ อาการเหล่านี้ก็หายไป ไม่ถึงกับหายสนิท
ยังหลงเหลือ หน้ามืดอยู่บ้าง เวียนหัวนิดหน่อย แต่ไม่เดินเอียง หรือทรงตัวยากแล้ว
เภสัชกรบอกว่า เป็นเพราะร่างกายกำลังปรับตัวให้เข้ากับยา
ผลข้างเคียงก็จะขึ้นอยู่กับแล้วแต่บุคคลด้วยค่ะ

13 มิถุนายน, 2555

เข้าร่วมคลีนิคบำบัดโรคซึมเศร้าครั้งที่1 Part2

Part 1 อันนี้นะคะ
http://maepinksnow.blogspot.com/2012/06/1.html

ต่อเลยนะคะ
วิธีรักษา
ดีที่สุดคือ การรักษาทางการแพทย์ ร่วมกับ การรักษาทางจิตใจ

ทางการแพทย์ คือ การให้ยาต้านเศร้า
รักษาทางจิตใจ คือ ปรับแนวคิดเชิงบวก
ซึ่งก็จะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล และการวินิจฉัยของแพทย์

การออกกำลังกานก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ

ต่อไปเป็นเภสัชกรมาให้ความรู้เกี่ยวกับยาต้านเศร้าหรือคุณหมอบางคนจะใช้คำว่า ยาควบคุมอารมณ์

ยาต้านเศร้าโดยทั่วไปมีฤทธิ์ระงับอาการซึมเศร้า
และยังช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้อีกด้วย

การรับประทาน ต้องรับประทานต่อเนื่อง โดยประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี (แล้วแต่บุคคล)
และไม่ควรหยุดยาเอง
"ไม่ควรหยุดยาเอง" ทั้งคุณหมอและเภสัชย้ำหลายครั้งมากๆ

การทานยาต่อเนื่องจะมีโอกาสหาย และกลับมาเป็นอีกได้น้อยมาก
เพราะถ้าไม่ทานยาต่อเนื่อง และกลับมาเป็นอีก โอกาสที่จะรักษาหายจะน้อยลง และอาการอาจรุนแรงมากขึ้น

ยาต้านเศร้า มีเป้าหมายคือ รักษา และป้องกันการกลับมา

การเลือกใช้ยา
ยาจะมีหลายชนิด หลายขนาน เช่น 5 mg, 10 mg เป็นต้น
จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงของคนไข้

ผลข้างเคียงของยาต้านเศร้า
ท้องผูก, อาเจียน, ความดันต่ำ, หน้ามืด, เวียนศีรษะ, ปากแห้ง, คอแห้ง เป็นต้น
เกิดกับแค่บางคน และช่วงแรกๆ ของการใช้ยา

และถ้าเจ็บป่วยเป็นโรคอื่น หรือ ไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการอื่นๆ เช่น เป็นหวัด เป็นต้น
ต้องแจ้งให้แพทย์ หรือเภสัชกรทราบว่าเรารับยาต้านเศร้าอยู่ทุกครั้ง
เพื่อป้องกันการตีกันของยา หรือ ยาบางตัวอาจส่งผลในการเพิ่ม หรือลดประสิทธิภาพของยา

ทิ้งท้าย Coffee Lover ทั้งหลายจ๋า
กาแฟก็มีส่วนลดประสิทธิภาพในการทำงานของยาต้านเศร้าเช่นกันนะจ๊ะ

อันนี้กระแทกโดนเมเองเต็มๆ *0*

จบการเข้าบำบัดครั้งที่ 1 ค่ะ
มีรูปภายในห้องมาฝากด้วย อาจถ่ายไม่ชัดขออภัย แบบว่า มือสั่น เพราะหนาวมากกกก แล้วก็ไฟสะท้อนด้วยค่ะ







*หมายเหตุ
อันนี้เป็นความรู้ที่เมได้รับมาจากการไปเข้าบำบัด ถ้าผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ด้วยค่ะ

07 มิถุนายน, 2555

เข้าร่วมคลีนิกบำบัดโรคซึมเศร้าครั้งที่1

เมื่อวานวันที่ 6 มิ.ย. 2555 เมก็ไปรพ.เพื่อไปเข้าคลีนิกบำบัดโรคซึมเศร้า เวลา 13:00 น.
ไปถึงเมก็งงๆ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงบ้าง เห็นมีพยาบาลนั่งอยู่บริเวณนั้น เมก็เลยเดินเข้าไปบอกว่า มาเข้าคลีนิกบำบัดซึมเศร้าค่ะ
พยาบาลเลยบอกให้นั่งรอบริเวณหน้าห้องตรวจก่อน เดวจะมีคนมารับ
เมก็นั่งรอ ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ แอบตื่นเต้น แต่ก่อนเข้ารพ.เราก็แวะซื้อกาแฟไปนั่งจิบด้วย เลยคลายความตื่นเต้นลงได้หน่อย

นั่งรอประมาณ 10 นาที ก็มีเจ้าหน้าที่มาเรียกให้ขึ้นไปห้องข้างบน
เมก็เดินตามๆ คนอื่นขึ้นไป มีคนมาเข้าร่วม รวมเมด้วยแล้วก็ 5 คน

ถึงหน้าห้องก็เซ็นชื่อเข้าร่วม พร้อมเขียนชื่อทำป้ายติดเสื้อไว้

บรรยากาศภายในห้องก็ มีโต๊ะตรงกลาง มีสไลด์ แล้วก็มีเก้าอี้ให้คนไข้นั่งล้อมวง



การเข้าร่วมครั้งที่1 นี้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า มาทำความรู้จักโรคซึมเศร้ากันเถอะ

ระหว่างคุณหมอบรรยาย ก็จะมีการถามความเห็นคนไข้คนนู้นคนนี้ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วคุณหมอก็จะชี้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องอีกครั้ง

โดยเมสรุปมาได้ดังนี้

ประชากรไทยจำนวน 1.2 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หรือประมาณ (2%)

กลุ่มที่เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
1. มองโลกในแง่ลบ
2. แก้ไขปัญหาแบบหลีกหนี
3. เพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย
4. คนไข้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น อาจเป็นโรคที่รักษาหายยาก หรือนาน จนทำให้เกิดความเครียด และท้อแท้

อาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
- จะแสดงออกทางความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ เช่น ดูเศร้าสร้อย ซึม หดหู่ ร้องไห้ ฯลฯ
- แสดงออกทางร่างกาย ทำสิ่งต่างช้าลง พูดช้า หรือติดขัด เป็นต้น

โรคซึมเศร้า = โรคจิต?
- โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต ต่างจากโรคจิต และมีโอกาสหายได้สนิทมากกว่าบุคคลที่เป็นโรคจิต

สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า
1. ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
2. พันธุกรรม
3. เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด

ส่วนใหญ่จะเริ่มป่วยครั้งแรกหลังอายุ 20 และก่อน 50 ปี
โรคซึมเศร้าสามารถหายได้ หรือ เป็นเรื้อรัง และหรือเป็นซ้ำได้
การที่เป็นเรื้อรังหรือเป็นซ้ำ อาการจะเกิดเเป็นช่วงๆ สามารถทุเลาและหายได้เช่นกัน

ขอไปต่อบล็อก Part2 นะคะ



พบแพทย์ครั้งที่3

วันนัดที่ควรจะไปคือ วันศุกร์ที่ 25 พ.ค. 2555 แต่...
ด้วยความที่มึนยามาก ก่อนนอนกินยาตามหมอสั่ง ทำให้ตื่นสาย
เหมือนยังปรับเวลาการทำงานของยาไม่ถูก ก็เลยไม่ได้ไป
เมเลยโทรไปเลื่อนนัดแทนเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2555

พอถึงวันนัด เมก็อิดออดเล็กน้อย เพราะว่า กลัวโดนคุณหมอว่าเอา
ก็เมทานยาบ้าง ไม่ทานยาบ้าง ประมาณว่า รู้ตัวว่าโดนแน่ๆ
แล้ววันนั้น รถก็ช่างติดเหลือหลาย ปรกติจากบ้านเม เดินทางไปรพ.
ใช้เวลา 20-30 นาทีเท่านั้น แบบขับไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ
แต่วันนั้น กว่าจะไปถึง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาทีเลยทีเดียว

แล้วแถมยังออกจากบ้านสายอีกต่างหาก ยอมรับเลย \0/
เมไปถึงรพ.11:00 น.เป๊ะ รีบพุ่งตัวไปจอดรถอย่างด่วนเลย
ลงจากรถก็รีบวิ่งไปยื่นบัตรนัด ตามบัตรนัด สามารถไปยื่นได้ตั้งแต่เวลา 8:00-11:15น.
ก็วิ่งก้นแล่บกันเลยทีเดียว

พอขึ้นไปถึง เมก็ยื่นบัตรนัดพร้อมบัตรรพ.ตามเดิม
แล้วก็รับบัตรคิวเพื่อไปนั่งรอสอบถามอาการ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก
พอได้บัตรคิวมา เมก็เดินไปกดน้ำดื่ม ด้วยความที่รีบมาก หน้ามืดนิดหน่อย
เลยกดน้ำดื่มมือสั่นเลย จนเจ้าหน้าที่มองแล้วก็ถามว่า ไหวไหมครับ
เค้าคงคิดว่าเมจะเป็นลมแล้วมั้ง ฮ่าๆ

จากนั้นเมก็ไปนั่งรอสอบถามอาการ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก แล้วก็รับเบอร์เพื่อรอพบคุณหมอ
วันนี้เมได้พบคุณหมอเป็นคนสุดท้ายเลย ก็แน่ล่ะ ไปสะไวเชียว!
คุณหมอก็สอบถามอาการตามปรกติ เราก็พูดคุยไป น้ำตาไหลบ้างเป็นช่วงๆ
แล้วก็เอาอาการต่างๆ หรือพวกความรู้สึกในแต่วันที่เมจดไว้ให้คุณหมออ่าน
คุณหมอก็เลยถามว่า แล้วทานยาตามหมอสั่งหรือเปล่า
แหม คำถามแทงใจดังฉึก ก็เลยตอบอย่างเบาบางว่า
ทานบ้างไม่ทานบ้างค่ะ
คุณหมอเลยยิ้มๆ แล้วก็ถามว่า แล้วถ้าไม่ทานยาตัวที่เป็นก่อนนอน สามารถนอนหลับไหม
เมก็ตอบไปว่า ไม่หลับค่ะ หรือไม่ก็หลับประมาณตี4 สักสองชั่วโมงก็ตื่น
คุณหมอเลยทำหน้าเข้มใส่แล้วพูดว่า ช่วยทานยาตามที่หมอสั่งทุกวันจะได้ไหม!
เมก็เลยก้มหน้าหน่อยๆ แล้วก็บอกว่า จะพยายามค่ะ

คุณหมอยังถามอีกว่า มาพบคราวหน้าหมออยากให้คุณแม่ หรือพี่สาวก็ได้ มาพบหมอด้วยได้ไหม
โอ๊ววว เท่านั้นแหล่ะ น้ำตาแตก ไหลเป็นเขื่อน
คุณหมอบอกว่า เผื่อหมอจะช่วยพูดให้เค้าเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น
เมเลยบอกคุณหมอไปว่า เมว่าเค้าไม่เข้าใจหรอกค่ะ ถึงหมอจะพูดเค้าก็ไม่มีทางเข้าใจ
คุณหมอเลยบอกเมว่า ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไร ไม่อยากให้มาก็ไม่เป็นไร
พอตอนท้าย คุณหมอก็แนะนำให้เข้าคลีนิกบำบัดโรคซึมเศร้า ที่ทางรพ.จัดขึ้นทุกวันพุธ
เมจึงไปลงชื่อ แล้วก็ต้องไปรพ.อีกทีวันพุธที่ 6 มิ.ย. 2555 เวลา 13:00 น.